ReadyPlanet.com


วันเข้าพรรษาในปี 2551
avatar
ครรชิต


 

วันเข้าพรรษาในปี 2551 นี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2551 เป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8

 

วันเข้าพรรษา กำหนดเป็น 2 ระยะ คือ ปุริมพรรษา และปัจฉิมพรรษา 1. ปุริมพรรษา คือ วันเข้าพรรษาต้น ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หรือราวเดือนกรกฎาคม และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ราวเดือน ตุลาคม 2. ปัจฉิมพรรษา คือ วันเข้า พรรษาหลัง สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง หรือราวเดือนกรกฎาคม และจะออกพรรษาใน วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ราวเดือนตุลาคม

 

"เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน

 

ความหมายของวันเข้าพรรษา คือ เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ตลอดระยะเวลา ฤดูฝนมีกำหนด 3 เดือนตามพระวินัยบัญญัติ โดยไม่ไปค้างแรมในที่อื่น เรียกกันโดยทั่วไปว่า "จำพรรษา"

 

ประวัติความเป็นมา แต่เดิมในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวก อยู่ประจำพรรษา เหล่าภิกษุสงฆ์ จึงต่างพากันออกเดินทาง เผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่างๆ โดยไม่ย่อท้อ ทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ต่อมา ชาวบ้านได้พากัน ติเตียนว่า พวกสมณะศากยบุตรไม่ยอมหยุดสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่พวกพ่อค้าและนักบวชในศาสนาอื่นๆ ต่างพากัน หยุดสัญจรในช่วง ฤดูฝนนี้ การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าชาวบ้าน ได้รับความเสียหาย หรืออาจ ไปเหยียบย่ำโดน สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย

..................เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องจึงได้วางระเบียบให้พระภิกษุสงฆ์เข้าอยู่ประจำที่ ตลอดระยะเวลา 3 เดือนแห่งฤดูฝน ภิกษุสงฆ์ที่อธิษฐานเข้าพรรษาแล้ว จะไปค้างแรมที่อื่นนอกเหนือจากอาวาส หรือที่อยู่ของตนไม่ได้แม้แต่คืนเดียว หากไปแล้วไม่สามารถ กลับมาในเวลาที่กำหนด คือก่อนรุ่งสว่าง ถือว่าพระภิกษุรูปนั้นขาดพรรษา

.................. แต่หากมีกรณีจำเป็น 4 ประการต่อไปนี้ ภิกษุผู้อยู่พรรษาสามารถกระทำ สัตตาหกรณียะ คือ ไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็น การขาดพรรษา แต่ต้องกลับมาภายในระยะเวลา 7 วัน คือ

.................. 1. ไปรักษาพยาบาลพระภิกษุ หรือ บิดามารดาที่เจ็บป่วย

.................. 2. ไประงับไม่ให้พระภิกษุสึก

.................. 3. ไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น ไปหาอุปกรณ์มาซ่อมแซมวัดซึ่งชำรุดในพรรษานั้น

.................. 4. ทายกนิมนต์ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขา

ในการอธิษฐานเข้าพรรษา ณ วัดหรือที่ใดที่หนึ่ง หากมีเหตุจำเป็น 5 ประการต่อไปนี้ ภิกษุไม่ต้องอาบัติ แม้จะไปอยู่ที่อื่น ได้แก่

.................. 1. ถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น วิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม

.................. 2. ชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป อนุญาตให้ไปกับเขาได้ หรือชาวบ้านแตกเป็น 2 ฝ่าย ให้ไปกับฝ่ายที่มีศรัทธาเลื่อมใส

.................. 3. ขาดแคลนอาหาร หรือยารักษาโรค

.................. 4. มีผู้เอาทรัพย์มาล่อ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้หนีไปเสียให้พ้นได้

.................. 5. ภิกษุสงฆ์แตกกันหรือมีผู้พยายามทำให้ภิกษุสงฆ์ในวัดแตกกัน ให้ไปเพื่อหาทางระงับได้

 

ประโยชน์ในการเข้าพรรษาของพระภิกษุ  

.................. 1. เป็นช่วงที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา หากภิกษุสงฆ์เดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ อาจไปเหยียบต้นกล้า หรือสัตว์เล็ก สัตว์น้อย ให้ได้รับความเสียหายล้มตาย

.................. 2. หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 - 9 เดือน พระภิกษุสงฆ์จะได้หยุดพักผ่อน

.................. 3. เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจน เตรียมการสั่งสอน ประชาชน เมื่อถึงวันออกพรรษา

.................. 4. เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาต่อไป

.................. 5. เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตรหล่อเทียนเข้าพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนา ตลอดเวลาเข้าพรรษา

 

 

พิธีกรรมของสงฆ์ ก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา

 

      พระท่านจะทำการซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้อยู่ในสภาพที่ดีที่ใช้อยู่อาศัยได้ จัดการปัดกวาดหยากไย่เช็ดถู ให้สะอาด สาเหตุที่ต้องกระทำเสนาสนะให้มั่นคงและสะอาดก็เพื่อจะได้ใช้บำเพ็ญสมณกิจ ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ได้เต็มที่ ไม่ต้องกลัวฝน จะรั่วรดอุโบสถ

 

      ไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้วจึงกระทำพิธีเข้าพรรษา โดยกล่าวอธิษฐานตั้งใจ เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูฝน ในวันของ ท่านที่ตั้งใจจะอยู่

 

       คำกล่าวอธิษฐานพรรษาเป็นภาษาบาลีว่า "อิมัสะมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ" แปลว่า "ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาในวัดนี้ ตลอด ๓ เดือน" โดยกล่าวเป็นภาษาบาลีดังนี้ ๓ ครั้ง ต่อจากนั้นพระผู้น้อยก็กระทำ สามีกิจกรรม คือ กล่าวขอขมาพระผู้ใหญ่ว่า "ขอขมาโทษที่ได้ล่วงเกินไป ทางกาย วาจา ใจ เพราะประมาท" ส่วนพระผู้ใหญ่ ก็กล่าวตอบว่า อดโทษให้ เป็นอันว่าต่างฝ่าย ต่างให้อภัยกัน นับเป็นอันเสร็จพิธีเข้าพรรษาในเวลานั้น ครั้นวันต่อไปพระผู้น้อย ก็ จะนำดอกไม้ธูปเทียนไป กราบพระเถรานุเถระต่างวัด ผู้ที่ตนเคารพนับถือ

 

กิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันเข้าพรรษา

      ๑. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา

 

      ๒. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิษุสามเณร

 

      ๓. ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล

 

      ๔. อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ

 

 

การหล่อเทียนพรรษา 

. .....การหล่อเทียนพรรษาเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มีมาแต่คั้งโบราณกาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พิธีหล่อเทียน จัดเป็ฯพระราชกุศล และเป็นงานบุญทั่วไปของชาวบ้านอีกด้วย โดยกำหนดจัดงานราชพิธีหล่อเทียนขึ้นในเดือน ๘ ของทุกปี ก่อน เข้าพรรษาสมัยนั้นการหล่อเทียนใช้หล่อด้วยขี้ผึ้งทั้งสิ้น ในปีหนึ่ง ๆ จะใช้ขี้ผึ้งเป็นจำนวนมากทั้งนี้เนื่องจากบรรดาวัดต่าง ๆ ที่เป็น วัดหลวงทุกวัด จะได้รับพระราชทานเทียนพรราวัดละ ๑ เล่ม หรือมากกว่านั้นทุก ๆ วัด จำนวนเทียนที่หล่อจึงมีมากขึ้น

.........กล่าวกันว่าประมาณปลายรัชการที่ ๓ ต้องหล่อเทียนจำนวนถึง ๒๐๐ เล่ม จึงจะมีจำนวนมากพอที่จะนำไปถวายวัดต่าง ๆ ได้ อย่างทั่วถึง ซึ่งการหล่อเทียนแต่ละเล่มสมัยนั้น ต้องใช้ขี้ผึ้งในการหล่อเทียนหนักถึง ๑๖ ชั่ง ปีหนึ่ง ๆ จะใช้ขี้ผึ้งจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อถึง เวลาที่หล่อเทียนทางสำนักพระราชวัง จำบอกบุญไปยังพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เจ้าภาษี นายอากร และ ขุนนางฝ่ายต่าง ๆ เป็นต้น ให้นำขี้ผึ้งมาช่วยกันหล่อเทียน จึงสำเร็จลงได้

........ มูลเหตุที่ต้องมีการหล่อเทียนนั้นก็เนื่องมาจากในฤดูฝน หรือที่เรียกกันว่า "ฤดูการเข้าพรรษา" คือช่วงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ นั้น กำหนดให้พระภิกษุทั้งหลายต้องงเข้าอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอดระยะเวลา ๓ เดือน พระภิกษุสงฆ์ที่ต้อง อยู่จำพรรษาในพระอารามระหว่างนั้นมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าค่ำ มีความจำเป็นต้องใช้เทียนไว้สำหรับ จุดบูชาให้ตลอดพรรษา พุทธศาสนิกชนจึงพร้อมใจกันหล่อเทียน สำหรับให้พระภิกษุสงฆ์ได้จุดบูชาตลอด ๓ เดือนของกำหนดเวลาเข้าพรรษา จึงเรียกเทียนที่หล่อ ขึ้นนี้ว่า "เทียนพรรษา" หรือ "เทียนจำนำพรรษา"

........ การถวายเทียนพรรษาเป็นกุศลอย่างหนึ่งของการให้ทานด้วยแสงสว่าง ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา สว่างไสว พิธีหล่อเทียน เริ่มก่อนการเข้าพรรษาเล็กน้อย การตระเตรียมงานพิธีหล่อเทียนในชุมชนนั้น จะเริ่มขึ้นประมาณวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ก่อนเข้าพรรษา ประมาณ ๑ สัปดาห์

......... เมื่อหล่อเทียนในวันรุ่งขึ้นจะจัดขบวนแห่นำไปถวาย ณ วัดใดวัดหนึ่ง เพื่อเป็นพุทธบูชาและ ในวันนั้นมีการทำบุญร่วมกัน ตักบาตร ถวายพระภิกษุสงฆ์ แสดงความศรัทธาโดยพร้อมเพรียงกัน

......... งานทำบุญหล่อเทียน และถวายเทียนพรรษานับเป็นประเพณีที่ดีงามสมควรที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จะได้ช่วยกันรักษา ประเพณีนี้ไว้ให้คงอยู่สืบไปชั่วกาลนาน

 



ผู้ตั้งกระทู้ ครรชิต โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2008-06-20 16:01:42 IP : 203.121.167.243


Copyright © 2010 All Rights Reserved.