ReadyPlanet.com


มหาบุรุษ ๓๒ ประการคือคนประเภทไหน
avatar
กองทัพอภิญญา


มหาบุรุษ ๓๒ ประการคือคนประเภทไหน

 

บาลี ลักขณสูตร ปา. ที. ๑๑/๑๕๗/๑๓๐..

ตรัสแก่ภิกษุ ท. ที่เชตวัน. ความว่า .

 

ชินะ ปัญชะระ มัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะหิี ตะเล

สะทา ปาเลนตุมัง สัพเพ เต มะหาปุริสา สะภา

 

คำแปล ขอพระมหาบุรุษ ผู้ทรงพระคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้น จงอภิบาลข้าพระพุทธเจ้า ผู้อยู่ในภาคพื้น ท่ามกลางพระชินบัญชร ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดี ฉะนี้แล

 

พระพุทธองค์ท่านทรงมีลักษณะของบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษครบถ้วน ๓๒ ประการ หรือที่เรียกว่า มหาปุริสลักษณะ มหาปุริสลักษณะ หรือลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการนั้น คือ

. มหาบุรุษ มีพื้นเท้าสม่ำเสมอ

 

๒. มหาบุรุษ ที่ฝ่าเท้ามีจักรเกิดขึ้น มีซี่ตั้งพัน พร้อมทั้งกงและดุม

 

๓. มหาบุรุษ มีส้นเท้ายาว

 

๔. มหาบุรุษ มีข้อนิ้วยาว

 

๕. มหาบุรุษ มีลายฝ่าเท้าอ่อนละมุน

 

๖. มหาบุรุษ มีลายฝ่ามือฝ่าเท้าดุจตาข่าย

 

๗. มหาบุรุษ มีข้อเท้าอยู่สูง

 

๘. มหาบุรุษ มีแข้งดุจแข้งเนื้อทราย

 

๙. มหาบุรุษ ยืนไม่ย่อตัวลง แตะเข่าได้ด้วยมือทั้งสอง

 

๑๐. มหาบุรุษ มีองคชาติตั้งอยู่ในฝัก

 

๑๑. มหาบุรุษ มีสีกายดุจทอง คือมีผิวหนังดุจทอง

 

๑๒. มหาบุรุษ มีผิวหนังละเอียด ละอองจับไม่ได้

 

๑๓. มหาบุรุษ มีขนขุมละเส้น เส้นหนึ่ง ๆ อยู่ขุมหนึ่ง ๆ

 

๑๔. มหาบุรุษ มีปลายขนช้อนขึ้น สีดุจดอกอัญชัน ขึ้นเวียนขวา

 

๑๕. มหาบุรุษ มีกายตรงดุจกายพรหม

 

๑๖. มหาบุรุษ มีเนื้อนูนหนาในที่ ๗ แห่ง (คือหลังมือหลังเท้าบ่อคอ)

๑๗. มหาบุรุษ มีกายข้างหน้า ดุจราชสีห์

 

๑๘. มหาบุรุษ มีหลังเต็ม (ไม่มีร่องหลัง)

 

๑๙. มหาบุรุษ มีทรวดทรงดุจต้นไทร กายกับวาเท่ากัน

 

๒๐. มหาบุรุษ มีคอ กลมเกลี้ยง

 

๒๑. มหาบุรุษ มีประสาทรับรสอันเลิศ

 

๒๒. มหาบุรุษ มีคางดุจราชสีห์

 

๒๓. มหาบุรุษ มีฟัน ๔๐ ซี่บริบูรณ์

 

๒๔. มหาบุรุษ มีฟันเรียบเสมอ

 

๒๕. มหาบุรุษ มีฟันสนิท (ชิด)

 

๒๗. มหาบุรุษ มีลิ้น (ใหญ่และยาว) เพียงพอ

 

๒๘. มหาบุรุษ มีเสียงดุจเสียงพรหม พูดเหมือนนกการเวก

 

๒๙. มหาบุรุษ มีตาเขียวสนิท (ตานิล)

 

๓๐. มหาบุรุษ มีตาดุจตาวัว

 

๓๑. มหาบุรุษ มีอุณาโลมหว่างคิ้ว ขาวอ่อนเหมือนสำลี

 

๓๒. มหาบุรุษ มีศีรษะรับกับกรอบหน้า

พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า พระมหาบุรุษผู้สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เหล่านี้ ย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่นได้เลย คือ ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรอันมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการคือ

๑. จักรแก้ว

๒. ช้างแก้ว

๓. ม้าแก้ว

๔. แก้วมณี

๕. นางแก้ว

๖. คฤหบดีแก้ว

๗. ปริณายกแล้ว

 

พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปร่างสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีทหารของข้าศึกได้ พระองค์ทรงมีชัยชนะโดยธรรม มีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ไม่มีหลักตอ ไม่มีเสี้ยนหนาม มีความมั่งคง เบิกบาน เกษม ร่มเย็น ปราศจากเสนียดคือ โจร ทรงครอบครองโดยธรรม อันสม่ำเสมอ มิได้ใช้อาชญาและศาสตรา

 

พระมหาบุรุษนี้ ถ้าเสด็จออกบวชเป็นบรรพชิต ก็จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก

 

พระพุทธองค์ ได้ตรัสถึงสาเหตุที่ทำให้พระองค์มีมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการครบถ้วน เกิดจากการสร้างกรรมดี ดังต่อไปนี้

ภิกษุทั้งหลาย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เหล่านี้แลพวกฤาษีแม้เป็นภายนอก (หมายถึงภายนอกศาสนา) ย่อมทรงจำมหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษ ๓๒ เหล่านี้ได้

 

แต่ฤาษีทั้งหลายนั้นย่อมไม่ทราบว่า พระโพธิสัตว์ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมต่าง ๆ อันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ สัตว์ที่บำเพ็ญกุศลกรรมนั้น ย่อมครอบงำเทวดาทั้งหลายอื่นในโลกสวรรค์ โดยสถาน ๑๐

 

คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ ความสุขทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็นอธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์และโผฏฐัพพะทิพย์ ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้

 

๑. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้สมาทานมั่นในกุศลธรรม มีสมาทาน (การรับมาทรงไว้) ไม่ถอยหลังในกายสุจริต ในวจีสุจริต ในมโนสุจริต ในการบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถในการปฏิบัติดีในมารดา ในการปฏิบัติดีในบิดา ในการปฏิบัติดีในสมณพราหมณ์ ในความเป็นผู้เคารพต่อผู้ใหญ่ในสกุลและในธรรม อันเป็นอธิกุศลอื่น ๆ เพราะกรรมนั้น อันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะมหาปุริสลักษณะอย่างนี้คือมีพระบาทตั้งอยู่เฉพาะเป็นอันดี คือ เหยียบพระบาทเสมอกันบนพื้น ยกพระบาทขึ้นก็เสมอกัน จรดภาคพื้นด้วยฝ่าพระบาททุกส่วนเสมอกัน เป็นมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักขณะนั้น

๒. ตถาคตเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ได้เป็นผู้นำความสุขมาให้แก่ชนเป็นอันมาก บรรเทาภัยคือความหวาดกลัวและความหวาดเสียว จัดการรักษาปกครองกันโดยธรรม และบำเพ็ญทานพร้อมด้วยวัตถุอันเป็นบริวารเพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะมหาปุริสลักษณะอย่างนี้ คือ ในฝ่าพระบาททั้งสองมีจักรเกิดเป็นอันมาก มีซี่กำพันหนึ่ง มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง มีระหว่าง(ช่องห่าง) อันกุศลกรรมแบ่งเป็นอันดี เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

 

๓. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ละปาณาติบาตแล้ว เว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ววางทัณฑะวางศัสตราแล้ว มีความละอาย มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่

 

เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๓ ประการ คือ ส้นพระบาทยาว ๑ มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทยาว ๑ มีพระกายตรงดังกายแห่งพรหม ๑ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งหลายนั้น

 

๔. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้ให้ของที่ควรเคี้ยว และของที่ควรบริโภคอันประณีตและมีรสอร่อยและให้น้ำที่ควรซดควรดื่มเพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ คือ มังสะ(เนื้อ) อูมในที่ ๗ สถาน คือ ที่หลังพระบาททั้งสองที่บนพระอังสาทั้งสอง ที่ลำพระศอ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

 

. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้สงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ การให้การกล่าวคำเป็นรัก การประพฤติให้เป็นประโยชน์ และความเป็นผู้มีตนเสมอเพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะทั้ง ๒ นี้ คือ พระหัตถ์และพระบาท มีพื้นอ่อนนุ่ม ๑ และพระหัตถ์และพระบาทมีลายดังตาข่าย ๑ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งสองนั้น

๖. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรมแนะนำประชาชนเป็นอันมาก เป็นผู้นำประโยชน์และความสุขมาหาสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้บูชาธรรมอยู่เสมอ

 

เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการเหล่านี้ คือ มีพระบาทดุจสังข์คว่ำ ๑ มีพระโลมชาติล้วนมีปลายช้อนขึ้นข้างบนทุก ๆ เส้น ๑ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งสองนั้น

 

๗. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้ตั้งใจสอนศิลปะ วิชชาและกรรม ด้วยมนสิการว่าทำไฉน ชนทั้งหลายนี้ ถึงรู้เร็ว พึงสำเร็จ ไม่พึงลำบากนานเพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนั้น คือ มีพระชงฆ์เรียวดังแข้งแห่งเนื้อทราย เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งสองนั้น

 

๘. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้เข้าหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วซักถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญกรรมส่วนกุศลเป็นอย่างไร กรรมส่วนอกุศลเป็นอย่างไร กรรมส่วนที่มีโทษเป็นอย่างไร กรรมส่วนไม่มีโทษเป็นอย่างไรกรรมที่ควรเสพเป็นอย่างไร กรรมที่ไม่ควรเสพเป็นอย่างไร กรรมอะไรที่พึงเป็นไปเพื่อความเป็นประโยชน์ เพื่อสุขตลอดกาลนาน เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนั้น คือ มีพระฉวีสุขุมละเอียด ธุลีละอองมิติดพระกายได้ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

 

๙. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้ไม่มีความโกรธ ไม่มีความแค้นใจ แม้ถูกคนหมู่มากว่าเอาก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธ ไม่ปองร้าย ไม่จองผลาญ ไม่ทำความโกรธ ความเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ

 

และเป็นผู้ให้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อนและให้ผ้าสำหรับนุ่งห่มมีเนื้อละเอียด เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะทั้งนี้ คือ มีวรรณะดั่งทองคำ มีผิวหน้าคล้ายทองคำ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

 

๑๐. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้นำพวกญาติมิตรสหาย ผู้มีใจดี ที่สูญหาย พลัดพรากไปนานให้กลับมาพบกัน นำมารดากับบุตรให้พบกัน นำบุตรกับบิดาให้พบกัน นำพี่ชายพี่สาวกับน้องชายน้องสาวให้พบกัน ครั้นเขาทำการพร้อมเพรียง (รักใคร่ปรองดอง) กันแล้วก็ชื่นชม เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ คือ มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

 

๑๑. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิด ก่อน ๆ เมื่อตรวจดูมหาชนเป็นผู้ดูที่ควรสงเคราะห์ ย่อมรู้จักชนที่เสมอกัน รู้จักบุรุษพิเศษ หยั่งทราบว่าบุคคลนี้ควรปฏิบัติด้วยอย่างนี้ ๆ แล้วทำกิจอันเป็นประโยชน์พิเศษในบุคคลนั้น ๆ ในกาลก่อน เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ คือ มีพระกายเป็นระเบียบงดงาม และเมื่อยืนอยู่ไม่ต้องน้อมกายลง ย่อมลูบคลำชานุทั้งสอง ด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

 

๑๒. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้หวังประโยชน์หวังความเกื้อกูล หวังความผาสุก หวังความเกษมจากโยคะแก่ชนเป็นอันมาก ด้วยมนสิการว่า ทำไฉนชนเหล่านี้พึงเจริญด้วยศรัทธา เจริญด้วยศีล เจริญด้วยสุระ เจริญด้วยพุทธิ เจริญด้วยจาคะ เจริญด้วยธรรม เจริญด้วยปัญญา เจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก เจริญด้วยนาและสวน เจริญด้วยทาสและกรรมกร เจริญด้วยญาติ เจริญด้วยมิตร เจริญด้วยพวกพ้อง ดังนี้

 

เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๓ ประการนี้ คือ มีส่วนพระกายข้างหน้าดังว่ากึ่งกายข้างหน้า แห่งราชสีห์ ๑ มีระหว่างพระปฤษฎางค์เต็มดี ๑ มีลำพระศอกกลมเสมอกัน ๑ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ประการนั้น

๑๓. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้หรือศัตรา เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ คือ มีเส้นประสาทสำหรับนำรสอันเลิศ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

 

๑๔. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ไม่ถลึงตาดู ไม่ค้อนตาดู ไม่ชำเลืองตาดู เป็นผู้ตรงมีใจตรงเป็นปกติแลดูตรง ๆ และดูมหาชนด้วยปิยจักษะ (แววตาแห่งความรัก) เพระกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการเหล่านี้ คือ มีพระเนตรสีดำสนิท และมีดวงพระเนตรดังว่าตาแห่งโค เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น

 

๑๕. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นหัวหน้าของมหาชนในธรรมทั้งหลายฝ่ายกุศล เป็นประธานของมหาชนด้วยการสุจริตด้วยวจีสุจริต ด้วยมโนสุจริต ในการบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีลในการรักษาอุโบสถ ในความปฏิบัติดีในมารดา ในความปฏิบัติดีในบิดา ในความปฏิบัติดีในสมณะพราหมณ์ ในความเคารพต่อผู้ใหญ่ในสกุล และในธรรมเป็นอธิกุศลอื่น ๆ

 

เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ คือ มีพระเศียรดุจดังว่าประดับด้วยอุณหิส เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนี้

 

๑๖. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน (เชื่อถือได้) ควรเชื่อได้ไม่พูดลวงโลก

 

เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการเหล่านี้ คือ มีโลมชาติขุมละเส้น และมีอุณาโลมในระหว่างคิ้วมีสีขาวอ่อนเหมือนปุยฝ้าย เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น

๑๗. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ละคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพียงกัน เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการเหล่านี้ คือ มีพระทนต์ ๒๐ ซี่ และมีพระทนต์ไม่ห่างเป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น

 

 

๑๘. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำไม่มีโทษ เพราะหูชวนให้รักจับใจ เป็นของชาวเมือง (พูดตามภาษาโลก) คนส่วนมากรักใคร่พอใจ

 

เพระกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการเหล่านี้ คือ มีพระชิวหาใหญ่ และมีสุรเสียงดัง เสียงพรหม มีพระกระแสเหมือนเสียงนกการะเวก เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น

 

๑๙. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้างมีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ คือ มีพระหนุดังว่าคางราชสีห์ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

 

๒๐. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของ*** การโกงด้วยเครื่องตวงวัด

 

การโกงด้วยการรับสินบน การ***และการตลบตะแลง เว้นขาดจากการตัดการฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก

เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ เหล่านี้ คือ มีพระทนต์เสมอกัน และมีพระทาฐะสีขาวงาม เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งสองนั้น

มหาบุรุษคือคนประเภทไหน

 

ปัญหา ที่เรียกว่า มหาบุรุษ ในทางพระพุทธศาสนานั้นหมายถึงคนประเภทไหน ?

 

พุทธดำรัสตอบ

 

“ดูก่อนสารีบุตร เราเรียกว่า มหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตหลุดพ้น เราไม่เรียกว่า มหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น

 

“ดูก่อนสารีบุตร ก็บุคคลเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นภายในกายอยู่เป็นปกติ...พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่เป็นปกติ.... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นปกติ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่เป็นปกติ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย.....จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น

 

“ดูก่อนสารีบุตร บุคคลเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างนี้แล เราเรียกว่ามหาบุรุษ ...”

 

มหาปุริสสูตร มหา. สํ. (๗๒๔-๗๒๕)

ตบ. ๑๙ : ๒๑๑ ตท. ๑๙ : ๒๐๐

ตอ. K.S. ๕ : ๑๓๗-๑๓๘



ผู้ตั้งกระทู้ กองทัพอภิญญา โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2007-11-06 00:55:16 IP : 58.9.1.196


ก่อนหน้า1ถัดไป

ความคิดเห็นที่ 1 (1295252)
avatar
venareble
good
ผู้แสดงความคิดเห็น venareble วันที่ตอบ 2007-12-11 21:38:19 IP : 125.24.53.20


ความคิดเห็นที่ 2 (3371077)
avatar
ปฐมพงศ์

สาธุๆๆ อัศจรรย์มากคับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ปฐมพงศ์ วันที่ตอบ 2013-11-13 13:22:33 IP : 58.181.133.34



ก่อนหน้า1ถัดไป


Copyright © 2010 All Rights Reserved.