ReadyPlanet.com


รายงานปัญหาและอุปสรรครวมถึงรูปแบบใหม่ของการแจกโค-กระบือที่ทำให้เกิดความล่าช้าในปี 2552
avatar
กองธรรมพระศรีฯ


 

รายงานปัญหาและอุปสรรครวมถึงรูปแบบใหม่ของการแจกโค-กระบือที่ทำให้เกิดความล่าช้าในปี 2552
กองธรรมพระศรีอารย์ กองธรรมนำสุข พ้นทุกข์นิพพานัง
“องค์กรเอกชนเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาและสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์และสัตว์โลกที่ประสบเคราะห์กรรม”
 
 
เรียน ผู้ร่วมบริจาคทุกท่าน
 
 
                        ผมรู้สึกกังวลใจที่การรายงานผลการไถ่ชีวิตวัว-ควายปี 2552 นี้เนิ่นนานออกไป ซึ่งมีเหตุสำคัญ 2 ประการที่ผมใคร่ชี้แจงให้ทุกท่านได้ทราบดังนี้ ในช่วงใกล้ปิดรับบริจาค คือ ประมาณปลายเดือนมีนาคม 2552 ผมได้รับแจ้งจาก อ.สมานชัย สุวรรณอำไพว่า สำหรับปีการศึกษาหน้า คือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 มีแนวโน้มว่าจะต้องย้ายไปอยู่ จ.มหาสารคาม ขอให้ผมชะลอการซื้อวัว-ควายออกไปก่อน เชื่อว่าไม่เกินสิ้นเดือนเมษายน 2552 ก็คงจะมีความชัดเจน ว่าจะไปหรือไม่และอยู่ในโรงเรียนหรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จ.มหาสารคาม ซึ่งก็ได้ประสานงานล่วงหน้าไว้แล้ว ในหลักเกณฑ์เดียวกันกับที่ จ.นครพนม แม้ว่าโครงการไถ่ชีวิตของเรา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จ.นครพนม เขต 2 อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม จะมีมติรับโครงการเข้าไว้ในความรับผิดชอบแล้ว ซึ่งก็จะต้องมีการตรวจเยี่ยมประเมินผลตามวาระก็ตาม แต่หากเรามีบุคลากรที่เราไว้ใจได้จริงและมีอุดมการณ์รวมอยู่ด้วยย่อมดีกว่า
 
                        ดังนั้น หลังจากการรับบริจาคได้ครบกำหนดวันที่ 26 มีนาคม ผมจึงเดินทางขึ้นไป อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เพื่อทำการฝังไมโครชิฟวัว-ควายที่เราได้ไถ่ชีวิตไว้เมื่อปีที่แล้วประมาณ 30 ตัว จำนวน 17 โรงเรียน 6 อำเภอของ จ.นครพนม การเดินทางเพื่อไปฝังไมโครชิฟวัว-ควายที่เราปล่อยไปแล้วทั้ง 30 ตัวนั้น มีความจำเป็นต้องเข้าไปทุกโรงเรียนทุกพื้นที่ที่ได้รับแจกไปแล้ว ทำให้ได้เห็นข้อเท็จจริงว่า บางโรงเรียนไม่มีความพร้อมที่จะรับเลี้ยงดูวัว-ควาย บางโรงเรียนขาดการเอาใจใส่ บางโรงเรียนมีการย้ายสับเปลี่ยนผู้บริหาร ทำให้ไม่มีนโยบายเรื่องวัว-ควาย ก็ดุเหมือนจะปล่อยให้อยู่กันตามยถากรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอนาถใจ เพราะสัตว์พวกนี้พูดไม่ได้ ฟ้องไม่เป็น แล้วแต่มนุษย์จะเมตตา ผมจึงถือเป็นบทเรียนของปี 2552 ที่เราจะเริ่มใหม่ จึงได้ปรึกษาปัญหากับ อ.สมานชัยถึงวิธีการแก้ไข ในปี 2552 นี้ก่อนเราจะมอบให้ เราจะต้องไปดูสภาพความเป็นจริงของแต่ละโรงเรียนที่เสนอขอวัว-ควายมาว่า มีสภาพอย่างไร? นับแต่ผู้บริหาร คณะครู นักการภารโรง สิ่งแวดล้อมของโรงเรียนมีแหล่งน้ำไหม? ทั้งคนและสถานที่มีความพร้อมและมีความเหมาะสมที่จะได้ตามที่ขอมาหรือไม่ และนี่คือที่มาของการเปลี่ยนแปลงวิธีการแจกซึ่งต้องใช้เวลามากขึ้น เพราะผมเดินทางขึ้นไปจะใช้เวลาอยู่ได้ไม่เกิน 2-3 วัน เพื่อสำรวจและซื้อให้โรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว ซึ่งจะทำได้ครั้งละ 3-5 โรงเรียน
 
                        จนกระทั่งปลายเดือนเมษายน 2552 ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการย้าย ผมจึงได้เดินทางขึ้นไป อ.ศรีสงคราม วันที่ 7 พฤษภาคม 2552 โดยไม่รอผลการย้ายอย่างเป็นทางการ และได้สำรวจโรงเรียน 7 โรงเรียนร่วมกับ อ.สมานชัย อ.ชวลิต ศรีพวกผกาพันธ์ (ศึกษานิเทศก์) เขต 2 อ.ศรีสงคราม พร้อมกับจัดตั้งทีมงานใหม่ ขอให้ อ.ชวลิตเป็นผู้รับผิดชอบ หาก อ.สมานชัยต้องย้ายไป จ.มหาสารคาม
 
                        จะขอยกตัวอย่างถึงโรงเรียนที่มีปัญหาที่ได้ไปพบเมื่อช่วงวันที่ 26-27 มีนาคม 2552 ในคราวไปฝังไมโครชิพที่ผ่านมา
1.        โรงเรียนบ้านป่านาหว้า อ.บ้านแพง จ.นครพนม ในโรงเรียนไม่มีคอก ไม่มีนักการภารโรงที่รับผิดชอบโดยตรง ต้องฝากผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นชาวบ้านใกล้หมู่บ้านเลี้ยง และบริเวณที่เลี้ยงมีน้ำขังตลอดปี ควายแม่ลูกกินหญ้าไชที่เกิดตามหนองน้ำ ทำให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ในตับ ต้องให้สัตว์แพทย์อาสาฉีดยารักษาและให้ยาบำรุง พวกเราต้องวิ่งไล่จับวัวควายแม่ลูกตอนเที่ยง ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงยังไม่สำเร็จ
 
2.        โรงเรียนบ้านนาโดโพธิ์ศรี อ.นาทม จ.นครพนม โรงเรียนไม่มีคอก ไม่มีคนเลี้ยงเช่นกัน ต้องฝากชาวบ้านใกล้โรงเรียนเลี้ยง ซึ่งจำเป็นต้องเลี้ยงปนกับฝูงของชาวบ้าน ผู้บริหารคนใหม่ที่ย้ายเข้ามาก็ไม่มีแนวความคิดเรื่องการบูรณาการวัว-ควาย
 
 
ที่นี่ผมได้มีโอกาสเห็นความน่ารักของลูกควาย ความรักและความผูกพันที่พวกเขามีต่อกัน เนื่องจากโรงเรียนได้ฝากแม่ควาย 2 แม่ลูกให้ชาวบ้านเลี้ยง เขาก็เลี้ยงปนกับความฝูงใหญ่ของเขาที่มีอยู่ประมาณ 10 ตัว มีลูกควายอายุไล่เลี่ยกัน เมื่อเราจะไปฝังไมโครชิฟ เราได้โทรศัพท์ไปนัดหมายให้เตรียมวัว-ควายของเราไว้ในคอก แต่ไปถึงปรากฏว่าเขาไม่ได้เตรียมไว้ โดยเขาแจ้งว่า ลูกควายมันติดเพื่อนที่อยู่ในฝูงเดียวกัน เมื่อฝูงใหญ่ได้ออกไปกินหญ้าที่ทุ่ง แล้วมันไม่ได้ไป มันจะร้องอยู่ในคอกไม่หยุด พอเขาไปจับมาให้เราได้ เพื่อนมันอีก 3 ตัวก็พากันตามมาดูที่คอกด้วย
 
ท่านจะเห็นว่า
 
 1.     เขาเป็นสัตว์ก็จริง แต่ในด้านจิตใจเขาก็มีความรู้สึกรัก, ผูกพันกันเช่นเดียวกับคน เมื่อมันเจ็บหรือกลัว มันจะซุกอกแม่มันเพื่อป้องกันภัย ต่างกันที่การแสดงออกว่าเราจะสังเกตเห็นหรือไม่ หากท่านใช้ความรู้สึกเข้าไปมอง ท่านจะเห็นความจริงดังกล่าว
 
 2. การปล่อยไปโดยเราไม่ได้ติดตามดูแลหรือพิจารณาให้ดีก่อนมอบ เหมือนส่งเขาไปทรมาน บางโรงเรียนที่ไปพบไม่มีร่มไม้ให้หลบ หญ้าไม่พอเพราะพื้นที่มีหญ้าน้อยเกินไป แหล่งน้ำไม่มี ไม่จัดหาที่กินน้ำไว้ กลางคืนล่ามไว้ตามต้นไม้ ไม่สุมไฟกันยุง
 
ผมจึงอยากบอกท่านว่า การซื้อแล้วมอบเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าท่านทำด้วยใจและนึกถึงความรู้สึกเขา นึกถึงความเป็นอยู่เขา มันเป็นเรื่องยาก
 
จะไปหวังความเมตตาจากมนุษย์ อย่าหวัง ผมจึงตกลงกับ อ.สมานชัย และ อ.ชวลิตว่า ในปี 2552 นี้ เราจะไม่ซื้อทีเดียวพร้อมกันทุกโรงเรียน แต่จะเข้าไปสำรวจทีละโรงเรียนเพื่อดูสภาพความเป็นจริงของโรงเรียนนั้น นับแต่แนวคิดของผู้บริหาร นักการภารโรงพร้อมดูแลไหม? โรงเรียนมีแหล่งน้ำ มีปริมาณหญ้าพอเพียงไหม? มีต้นไม้ใหญ่เป็นที่บังแดดให้ร่มเงาไหม?
 
บางโรงเรียนเข้าไปก้าวแรกก็รู้แล้วว่าไม่ควรให้ แทบไม่ต้องคุยกัน มองไปโดยรอบเห็นแต่ความชำรุดผุพังของอาคาร ห้องน้ำห้องส้วมก็สกปรก ร่มไม้ไม่มี แหล่งน้ำไม่มี ไปนั่งรอเกือบชั่วโมง แบบนี้ให้ไปก็เท่ากับให้เขาเอาควายเราไปทรมาน
 
บางโรงเรียนสร้างคอกรอไว้ล่วงหน้า ครูใหญ่มารอเราอยู่หรือมาตรงเวลานัด โรงเรียนมีความร่มรื่น ผู้บริหารมีแนวคิดที่จะต่อยอด หรือบูรณาการโครงการนี้ ดังจะยกตัวอย่างให้ท่านฟัง 2-3 โรงเรียน ตามที่ไปสำรวจมาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 นี้
 
1.       โรงเรียนบ้านหนองสาหร่าย อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม โรงเรียนอนุบาล-ป.6 เนื้อที่ 26 ไร่ มีนักเรียนประมาณ 80 คน ผู้อำนวยการชื่อ อ.นิยมศิลป์ ศรีพันธ์รงค์ (084-4187767, 081-3807246) ขอควาย 3 ตัว บรรยากาศร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่ มีสระน้ำ มีโครงการทำปุ๋ยรองรับ โครงการฝึกหัดควายไถนา เนื่องจากปัจจุบันควาย 100% ไถนาไม่เป็น และสร้างคุณค่าทางจิตใจ ระหว่างคนกับควาย ให้เด็กนักเรียนได้รู้จักคลุกคลี ดูแลควายเป็นเพื่อนเล่นกัน เป็นความรักความผูกพันระหว่างคนกับสัตว์ให้มีความเมตตาต่อกัน
 
2.       โรงเรียนบ้านบุ่ง อ.ท่านอุเทน จ.นครพนม โรงเรียนอนุบาล-ป.6 เนื้อที่ 25 ไร่ มีนักเรียนประมาณ 117 คน ผู้อำนวยการชื่อ อ.พิลาพรรณ ใจจิตร (083-3344366) บรรยากาศโรงเรียนมีความร่มรื่น มีไม้ดอกไม้ประดับ โรงเรียนอยู่ติดป่าช้า ครูใหญ่ คณะครู นักการภารโรง มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สร้างคอยควายไว้รอ ทำโรงปุ๋ยคอกไว้รอ มีโครงการทำปุ๋ยคอกจากขี้ควาย ผลิตปุ๋ยเพื่อให้บำรุงพืชสวนครัวที่จะนำมาผลิตเมี่ยง นำไปขายตลาดนัดเพื่อช่วยโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน มีนักการภารโรง ชื่อ มานิตย์ จันแดง   เป็นคนรักสัตว์ ขอควาย 5 ตัว
 
3.       โรงเรียนชุมชนเอื้องก่อนาดี อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม โรงเรียนอนุบาล-ม.3 เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เนื้อที่ 38 ไร่ มีนักเรียนประมาณ 400 คน ผู้อำนวยการชื่อ อ.ธีรพงห์ สาระโพธิ์ (087-8558066) โรงเรียนมีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีสระน้ำเลี้ยงปลายี่สก, ตะเพียน, ปลาดุก เป็นโรงเรียนทำไร่นาสวนผสม พื้นที่ 4 ไร่เป็นนาข้าวรอบสระน้ำ ผลิตข้าวได้ปีละ 100 กระสอบปุ๋ย บริเวณที่เหลือปลูกพืชสวนครัว มีชาวบ้านเป็นคณะกรรมการโรงเรียนร่วมบริหารโครงการ บริหารบ่อปลา เด็กนักเรียนโรงเรียนไม่มีปัญหาเรื่องอาหารกลางวัน ขอควาย 3 ตัว
 
เหตุที่โรงเรียนส่วนใหญ่ขอควายก็เพราะ ควายเลี้ยงง่ายกว่าวัว กินหญ้าได้หลายชนิดและกินหญ้าเกลี้ยง
 
4.       โรงเรียนบ้านนาโพธิ์ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม โรงเรียนอนุบาล-ม.3 เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เนื้อที่ 38 ไร่ ผู้อำนวยการชื่อ อ.สว่าง โกษาแจ้ง (087-2336585) ขอควาย 3 ตัว
 
5.       โรงเรียนราชรามพิทยาคม อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ไม่พร้อมรับวัว-ควาย
6.       โรงเรียนบ้านโนนสว่าง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ไม่มีแหล่งน้ำ ไม่พร้อมรับวัว-ควาย
7.       โรงเรียนบ้านนาธาน อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม อยู่ระหว่างพิจารณา โรงเรียนอยู่บนที่ดอน ขาดแคลนน้ำ และไม่พบผู้บริหาร
 
การเดินทางวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมาสำรวจได้ 7 โรงเรียน ผ่าน 4 โรงเรียน ได้เห็นสภาพความเหมาะสมทั้งสถานที่และบุคลากรตั้งแต่ผู้บริหาร ได้รับฟังแนวความคิดของผู้อำนวยการแต่ละที่ ทำให้มั่นใจที่จะมอบให้ เป็นหลักประกันความเป็นอยู่ของวัว-ควาย
 
ในหนึ่งเดือนผมเดินทางไป 2 ครั้ง ครั้งแรกสำรวจ ครั้งที่สองซื้อวัว-ควายมอบโรงเรียนที่สำรวจไว้แล้วและสำรวจเพิ่ม ซึ่งแต่ละครั้งจะได้ 4-6 โรงเรียนเป็นอย่างมาก ซึ่งผมจะเดินทางไปซื้อและสำรวจครั้งที่สองปลายเดือนพฤษภาคมนี้
 
ดังนั้นจึงขอแจ้งให้ผู้บริจาคทุกท่านทราบว่าปีนี้ (จะรายงานผลทางจดหมาย) ช้ากว่าทุกปี ส่วนทางอินเตอร์เน็ตจะรายงานทุกรอบที่เดินทางไป เนื่องจากผู้บริจาคของเรามี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นผู้ที่เคยทำบุญร่วมกันมานับ 10 ปี ผมจะประชาสัมพันธ์ส่งจดหมายไปและรายงานผลทางจดหมายเมื่อเสร็จสิ้น มีอยู่ 1,900 คน ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ อีกกลุ่มเป็นผู้ที่อ่านพบทางอินเตอร์เน็ตซึ่งไม่ทราบจำนวน
 
การรับเงินบริจาคแล้วดำเนินการซื้อแจก แล้วรายงานผลอย่างรวดเร็วนั้นดูดีกับการทำงาน แต่ผู้ที่ได้รับผล คือ วัว-ควายซึ่งเขาต้องเจอกกับสภาพดี, เลวไปตลอดชีวิต ดังนั้น เมื่อเราจะทำแล้ว ก็ขอให้ทำด้วยความเมตตาที่แท้จริง ทุกอย่างให้คิดว่าหากเราอยู่ในสภาพนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร? เรารักลูก เขาก็รักลูกเขา สัตว์โลกทั้งมวล รักสุข เกลียดทุกข์เสมอกันหมด ไม่ว่าคนหรือสัตว์
 
จึงขอถือโอกาสนี้ชี้แจงแก่ทุกท่านที่เป็นสมาชิกใหม่ว่า ผมทำงานคนเดียวในนาม “กองธรรมอรพะศรีอารย์ กองธรรมนำสุข พ้นทุกข์นิพพานัง” มีจุดประสงค์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาและสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์และสัตว์โลกที่ประสบเคราะห์กรรม ไม่ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ งานที่ทำไม่ใช่เรื่องไถ่ชีวิตวัว-ควายอย่างเดียว เพียงแต่เรื่องวัว-ควายเป็นเรื่องที่ทำทุกปีเป็นประเพณีจนกว่าชีวิตจะหาไม่ จนถึงปีนี้เป็นปีที่ 18 ช่วยชีวิตได้ 2,000 ตัวเศษแล้ว ตั้งใจว่าจะทำให้ได้ 5,000 ตัว ตามอายุศาสนาที่พระโคดมทรงอธิษฐานไว้
 
สำหรับการทำงานเรื่องวัว-ควาย ผมจะสละเวลาทุกปีทำภารกิจเรื่องวัว-ควาย โดยเริ่มตั้งแต่วางแผนการทำงาน สำรวจพื้นที่ที่จะนำวัว-ควายไปปล่อย ประสานงานกับคนในพื้นที่เป็นผู้รับ ทำประชาสัมพันธ์ทางอินเตอร์เน็ตและส่งจดหมาย 1,900 ฉบับให้สมาชิกเก่า ตอบคำถามผู้ที่สงสัยสอบถามมา เงินบริจาคจะมาทางธนาณัติ โอนเข้าบัญชี นำมามอบให้ นำธนาณัติขึ้นเงิน เข้าบัญชี ปรับยอดสมุด ตอบจดหมายผู้บริจาคว่าได้รับเงินแล้ว ขณะเดียวกันเตรียมการมอบ การซื้อ สำรวจโรงฆ่าสัตว์ หารถขนวัว-ควาย ถึงกำหนด เดินทางไปซื้อ รวบรวมค่าใช้จ่าย ทำบัญชี แล้วรายงานผลว่าปีนี้ได้รับบริจาคเท่าใด? ซื้อได้กี่ตัว ค่าใช้จ่ายมีเท่าใด ปัญหาอุปสรรค เหตุการณ์เป็นอย่างไร? และรายงานผลทั้งทางอินเตอร์เน็ตและจดหมาย 1,900 ฉบับ
 
จากนั้นติดตามผลและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งชีวิตทุกชีวิตไม่พ้นความรับผิดชอบของเรา เจ็บป่วยต้องรักษา หากที่ใดมีปัญหาก็ต้องย้ายออก เป็นต้น เรื่องวัว-ควายเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบไม่มีที่สิ้นสุด ยากกว่าการสร้างวัดสร้างเจดีย์ สร้างพระทองคำ เพราะไม่มีคำว่าจบสิ้น
 
เมื่อการทำงานเป็นเช่นนี้ จึงอาจมองดูว่าไม่เป็นระบบและเรียบร้อยเท่าที่ควร เนื่องจากเราไม่ใช่มูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำกิจนี้โดยตรง ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำรับผิดชอบเป็นเรื่อง ๆ ยึดหลักในการทำงานเพียงอย่างเดียว คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ว่าคนกับวัว-ควายก็แค่ต่างกันที่กาย จิตนั้นเสมอกัน เรากลัว เขาก็กลัว เราปรารถนาสิ่งใด เขาก็ปรารถนาสิ่งนั้น และทำตามมโนปณิธานที่จะสงเคราะห์ผู้ที่มีทุกข์ให้พันทุกข์หรือบรรเทาเบาบางแต่เพียงอย่างเดียว ทำด้วยความเมตตาต่อเพื่อนร่วมทุกข์ที่ต่างเกิดมาในแดนทุรกันดารอันเรียกว่าโลกนี้ ทำด้วยความรู้ว่า นี่คือคุณค่าและหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ ทุกสิ่งล้วนสมมุติ เว้นแต่เพียงบุญกุศลและบาปเวรเท่านั้นที่เป็นสาระแก่นสาร  เป็นสัจจะ ก่อนจะจากโลกนี้ ขอให้ธาตุ 4 ขันธ์ 5 กองนี้ได้ทำคุณประโยชน์ให้เพื่อนร่วมโลก แม้เพียงน้อยนิดปีละครั้งก็ยังดี ได้ยืนยันพุทธพจน์ของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสว่า “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” นั้นจริงแท้แน่นอน โลกนี้ทั้งโลกล้วนเป็นของว่างเปล่า หาสาระแก่นสารใด ๆ ไม่มีเลย แต่มนุษย์ทั่วโลกติดบ่วงพญามาร หลงลืมไปว่าตนเกิดมาเพื่ออะไร? เมื่อตายแล้วจึงรู้เมื่อสาย สถานที่นี้เป็นที่บำเพ็ญบุญ เป็นที่ทำความพ้นทุกข์ เป็นปฐมเหตุ เป็นสถานีใหญ่ที่จะไปที่ไหนก็ได้ ด้วยเหตุนี้สัตว์โลกทั้งมวลจึงพากันมาหลงทางวนเวียนอยู่ในคุก คือ วัฏฏะ ไม่รู้จบสิ้น
 
สำหรับปี 2552 นี้ มีโรงเรียนที่ขอมา 23 โรงเรียน จาก 6 อำเภอของ จ.นครพนม สำรวจแล้ว 7 โรงเรียน คงเหลือ 16 โรงเรียน
 
ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปแล้ว
1. ค่าถ่ายเอกสาร 3,000 ชุด 2,100 บาท
2. ค่าส่งพัสดุ, แสตมป์ ทั้งในและต่างประเทศ 6,700 บาท
3. ค่าไมโครชิฟ 500 ชุดและเครื่อง scan 110,000 บาท
4. ค่าเดินทาง, ที่พักไปฝังไมโครชิฟ 26 มี.ค. 52 4,080 บาท
5. ค่าจ้างสัตว์แพทย์อาสา 2 คนฝังไมโครชิฟ 2,500 บาท
6. ค่าเดินทางไปสำรวจโรงเรียน 7 โรงเรียน และค่าน้ำมัน 5,500 บาท
                        รวมจ่ายไปแล้ว 130,880 บาท
                        ขณะนี้มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคาร 848,497 บาท
                        รวมยอดบริจาคปี 2552 979,377 บาท
 
ท่านใดต้องการปกป้องชีวิตจากการฆ่า ปลดปล่อยพวกเขาสู่อิสรภาพ ให้มีชีวิตใหม่ที่มีความสุขและได้รับการดูแลตลอดไป ร่วมบริจาคได้
 
โอนเข้าบัญชี      ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาอโศก
                        ประเภทบัญชีออมทรัพย์
                        เลขที่บัญชี 032-2-58355-6
                        ชื่อบัญชี นายพงษ์ชัยทัศน์ วณิชย์กุล เพื่อกองทุนพระศรีอริยเมตตไตรย
 
โอนเข้าบัญชี      ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาสุขุมวิท 23
                        ประเภทบัญชีออมทรัพย์
                        เลขที่บัญชี 204-1-19819-5
                        ชื่อบัญชี นายพงษ์ชัยทัศน์ วณิชย์กุล เพื่อกองทุนพระศรีอริยเมตตไตรย
 
ธนาณัติ             สั่งจ่าย   นายพงษ์ชัยทัศน์ (ธวัชชัย) วณิชย์กุล
                                    18/6 ซอยสุขุมวิท 23 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
                        ปณ. ประสานมิตรเท่านั้น
                        โทร. 02-2584235, 081-6149382     โทรสาร 02-2611313
 
            จนกว่าจะพบกันอีก
            กองธรรมพระศรีอารย์ฯ
14     พฤษภาคม 2552
 
“กองธรรมพระศรีอารย์ ปรารถนาให้โลกนี้มีความสุข”
 
ปล. จะรายงานผลอีกครั้งเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ


ผู้ตั้งกระทู้ กองธรรมพระศรีฯ โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2009-05-21 21:30:43 IP : 202.57.173.100


Copyright © 2010 All Rights Reserved.