ปาฏิหาริย์ในพระพุทธศาสนา สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ และสิ่งที่พระองค์ทรงระบุว่ามีอยู่ ครูบาเจ้าชัยยะวงศา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ลำพูน

ปาฏิหาริย์ในพระพุทธศาสนา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ และสิ่งพระทรงระบุว่ามีอยู่แต่ได้ห้ามให้พระภิกษุในศาสนาของพระองค์ทรงแสดง
ปาฏิหาริย์นี้ ทรงแสดงไว้ว่ามี ๓ ประการ คือ
๑. อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์อัศจรรย์
๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจถูกต้องอย่างน่าอัศจรรย์
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คําสั่งสอนที่น่าอัศจรรย์ โดยมีเหตุผลพร้อมมูล และปฏิบัติได้ผลจริงๆ ด้วย.
ในปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ ประการนี้ ทรงสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่าเป็นเยี่ยม เพราะยั่งยืนดํารงอยู่หลายชั่วอายุคน และสําเร็จประโยชน์แม้แก่คนรุ่นหลังๆ ส่วนปาฏิหาริย์อีก ๒ ประการนั้น เป็นประโยชน์เฉพาะแก่ผู้ได้ประสบพบเห็นเท่านั้น และเป็นสิ่งที่สาธารณะ แม้ชาวโลกบางพวกเขาก็ทําได้ เช่น ชาวคันธาระ และชาวมณีปุระ เป็นต้น ที่เรียกกันในครั้งนั้นว่า คันธารวิชา มณีวิชา พระบรมศาสดาจึงไม่ทรงแสดงบ่อยนัก เว้นแต่จําเป็น และเห็นว่าจะสําเร็จประโยชน์จึงทรงทํา อิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ นัยว่าทรงห้ามพระสาวกมิให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เช่นเดียวกัน แต่ก็ปรากฏว่ามีพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์กันเรื่อยๆ มา ตั้งแต่สมัยพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ จนถึงสมัยหลังพุทธปรินิพพานมานาน ที่ตรัสสั่งให้แสดงก็มี เช่น ทรงแนะอุปเทศแห่งฤทธิ์แก่พระมหาโมคคัลลานะ ให้ทรมานนันโทปนันทนาคราช และตรัสสั่งพระมหาโกฏฐิตะไปทรมานพญานาค ที่ท่าปยาคะ เป็นต้น เมื่อคราวจะทํายมกปาฏิหาริย์ก็มีพระสาวกสาวิกาหลายองคขอแสดงฤทธิ์แทน แต่ไม่ทรงอนุญาต โดยทรงอ้างว่า เป็น พุทธวิสัย และ พุทธประเพณี. อํานาจอันแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ดังที่เล่ามานี้ เป็นสิ่งเกินวิสัยสามัญมนุษย์จะทําได้ เป็นเหมือนเทพบันดาลฉะนั้น
ทิพยภาวะนั้น จะปรากฏขึ้นแก่บุคคลในเมื่อเจริญสมาธิจนได้ฌาน ๔ แล้ว และฌาน ๔ นั้นเองเป็นทิพยวิสัยฌานทั้ง ๔ เป็นที่ตั้งแห่งทิพยอํานาจทั้งปวง คือ ทิพยอํานาจทั้งปวงจะเกิดขึ้นแก่บุคคล ย่อมต้องอาศัยฌาน ๔ เป็นบาทฐาน เพราะฌาน ๔ เป็นทิพยวิสัย ที่บริบูรณ์ด้วยภาวะทิพย์ ซึ่งจะเป็นกําลังหนุนให้เกิดทิพยอํานาจได้ง่าย. ทิพยอํานาจนี้ เมื่อว่าโดยลักษณะอย่างต่ำ ย่อมหมายถึงโลกียอภิญญา ๕ ประการ แต่เมื่อว่าโดยลักษณะอย่างสูง ย่อมหมายถึง
โลกุตตรอภิญญา ๖ ประการ หรือวิชชา ๘ ประการ คือ
๑. อิทธิวิธิญาณ ฉลาดในวิธีทําฤทธิ์
๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์สําเร็จด้วยใจ
๓. ทิพพโสตญาณ ฉลาดในโสตธาตุทิพย์
๔. เจโตปริยญาณ ฉลาดในการรู้ใจผู้อื่น
๕. บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ฉลาดในการระลึกชาติก่อนได้
๖. ทิพพจักขุญาณ ฉลาดในทางตาทิพย์
๗. จุตูปปาตญาณ ฉลาดรู้จุติและอุปบัติ ตลอดถึงการได้ดีตกยากของสัตว์ตามกําลังกรรม
๘. อาสวักขยญาณ ฉลาดในการทําอาสวะให้สิ้นไป.
ข้อ ๑-๓-๔-๕-๖ และ ๘ เป็นอภิญญา ถ้าขาดข้อ ๘ ไปก็เป็นเพียงโลกิยอภิญญา ถ้ามีข้อ ๘ ก็เป็นโลกุตตรอภิญญา อภิญญา ๖ หรือวิชชา ๘
ขอกล่าวอ้าง ตัวอย่างแห่งทิพย์อำนาจ แห่ง ครูบาเจ้าชัยวงศา แห่งวัดพระพุทธบาทห้วยตุ้ม จ.ลำพูน โดยภาพนี้เป็นภาพถ่ายเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัย กล้องถ่ายรูปแบบฟีล์มม้วน ไม่มีเทคโนโลยีทันสมัยเหมือนทุกวันนี้ ว่าด้วยเรื่อง "มโนมัยกาย" หรือการถอดจิตแต่ด้วยกำลังจิตของครูบาเจ้านั้นมีกำลังมาก จึงสามารถทำให้เกิดเป็นกายหยาบอีกกาย เพื่อให้เห็นธรรมได้ชัดว่า แท้จริงกายนี้เป็นเพียงแค่บ้านเช่า กายที่แท้จริงยังมีอยู่และ "เราไม่มีในกายนี้ ในกายนี้ไม่มีเรา"


แต่อภิญญาสมาบัติ และการแสดงปาฏิหาริย์ต่างๆยังไม่ใช่หนทางแห่งการดับทุกข์และหนทางแห่งการหลุดพ้น เป็นเพียงแค่เครื่องรู้ หรือเครื่องมือเพื่อให้เราได้พิสูจน์ข้ออรรถข้อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น อุปมาเหมือน บัว 4 เหล่า และนักปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ จริตสุขวิปัสสโก หากแต่ยังมีจริต และวาสนาที่ตนได้สร้างสมมาแล้ว ในหมวด วิชชาสาม อภิญญา 6 และ ปฎิสัมภิทา 4 ซึ่งการให้ได้อรรถได้ธรรมนั้น จำเป็นจะต้องรู้จริตของตัวเพื่อ สร้างสมความดีในเขตเหล่านั้นจนกว่าจะถึงมรรค ถึงผลต่อไป
ครูบาเจ้าชัยยะวงศา ท่านเป็นพระสหธรรมมิกของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมญาณ วัดท่าซุง
ภาพต่อไปนี้คือภาพ พุทธบารมี แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระพุทธสิกขีทศพลที่ 1 หรือสมเด็จองค์ปฐม ได้ฉายพระฉัพพรรณรังสีคลุม พระอุโบสถวัดท่าซุงในพิธีหล่อ สมเด็จองค์ปฐมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2535 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา เป็นองค์ประธานจับสายสิญจน์ ในการหล่อพระพุทธรูป โดยมีพระเดชพระคุณหลวงพ่อทำการเททองลงในเบ้าที่ช่างเตรียมไว้

ขอบคุณข้อมูลภาพจาก เว็ปวัดท่าซุง เว็ป เศรษฐีธรรม และ บทความจากหนังสือ โดย พระอริยคุณาธาร
โปรดติดตามอ่าน หลักการฝึกและปฎิบัติเพื่อให้เข้าถึงทิพย์อำนาจ และหลักสูตรในพระพุทธศาสนาในตอนต่อไป
กดดูประวัติโดยย่อของครูบาเจ้าชัยยะวงศา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ลำพูน
เรียบเรียงโดยทีมงานชมรมรักษ์พระบรมธาตุแห่งประเทศไทย